วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

๔๙.ตะลุย....แดนอีสาน

ช่วงที่ห่างหายจากการอัพบล็อกไปนี้... ช่วงนึงผมและเพื่อนๆ ได้รับมอบหมายไปจัดอบรมที่อีสาน ๓ จังหวัด อุดรธานี,ร้อยเอ็ดและอุบลราชธานีตามที่เคยพูดถึงในเอ็นทรี่ย์ก่อนไปบ้างแล้ว โดยไปเที่ยวนี้ ในทุกจังหวัดจะต้องอยู่จัดอบรมจังหวัดละ ๒ อบรม อบรม แยกเป็นการอบรมแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ ให้คนพิการและครอบครัว ๓ วัน และอบรมผู้ช่วยคนพิการ ๒ วัน

ระหว่างเดินทางไปก็มีเหตุการณ์ตื่นเต้นเล็กน้อย คือ ยางแตก

มาจัดที่อุดรฯเป็นจังหวัดแรก เริ่มที่การอบรมผู้ช่วยคนพิการ ๒ วัน

ประธานในพิธีเปิด หัวหน้าสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(ชื่อยาวมาก พวกเราจะเรียกสั้นๆ ว่า พมจ.) จ.อุดรฯ เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิด

ประธานกล่าวเปิดการอบรม

การอบรมผู้ช่วยคนพิการมีทั้งทฤษฎี และภาคปฏิบัติ

วิธียกคนพิการรุนแรง ขึ้นลงรถยนต์ วิธีนี้เคยสอนหมอและพยาบาล(เป็นสามีภรรยากัน ที่มีน้องพิการ)มาแล้ว หมอบอกว่า "ผมเป็นหมอมาตั้งนานยังยกกันทุลักทุเลมาตั้งนาน"

วันที่ ๓-๕ ของการอบรมแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ ให้กับคนพิการและครอบครัว

คนที่กำลังพูดอยู่เป็นคนพิการ ๑ ในหลายคน ที่เพิ่งออกจากบ้านครั้งแรกในรอบหลายปี(ตั้งแต่พิการ) ก่อนหน้านี้ ใครมาชวนก็ไม่เคยออกมา แต่คณะทำงาน(คนพิการ)ของเราเข้าไปแค่ครั้งเดียว ยอมตามออกมาเลย นี่เป็นผลของเครื่องมือหนึ่ง ที่ได้ผลในสร้างความมั่นใจให้เกิดกับคนพิการที่ยังไม่ยอมรับตัวเอง ให้เปิดใจได้อย่างรวดเร็ว เราเรียกว่า "คนพิการต้นแบบ"(role model)

ช่วงที่เสร็จสิ้นภารกิจจากอุดร กำลังจะไปร้อยเอ็ด (ช่วงวันอาทิตย์)แวะไปจัดกลุ่มสนับสนุนคนพิการที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับการต้อนรับที่อบอุ่น และได้ลองชิมอาหารสไตล์พื้นบ้านภู่ไทแท้ๆ เลย

เช้าวันต่อมา "วัด" เป็นสถานที่รวมตัวกันของคนพิการและครอบครัว และชาวบ้าน จาก๓ ตำบล ใน อำเภอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวภู่ไท มีสาวน้อยแสดงรำภู่ไทต้อนรับด้วย

คนพิการและครอบครัวที่มารวมตัวกันในวันนั้น

หัวหน้าส่วนกายภาพบำบัดของ รพ.กุฉินารายณ์ ที่เคยได้ยินงานเรามาก่อน ได้รู้ข่าวจึงเดินทางมาพบปะพูดคุยอย่างสนใจ แม้เป็นวันอาทิตย์

จังหวัดต่อไป...ที่เราต้องไปจัดอบรมคือร้อยเอ็ด

เหมือนที่อื่นๆ ที่เคยไป เราชวนคนพิการหน้าใหม่ๆ ออกจากบ้านเป็นครั้งแรกได้อีก โดยคนนี้(เสื้อสีน้ำเงิน) เป็นอดีตทหารเก่า รับไม่ได้ที่ต้องมาพิการจากอุบัติเหตุ ไปคุยตอนแรกคิดแต่เรื่องจะลาโลกท่าเดียว

โรงแรมที่ร้อยเอ็ดนี่มีบางมื้อมีนักร้องมาขับกล่อมด้วย (แหม...ดีจัง)

เย็นวันหนึ่งในช่วงอบรม ระหว่างทางไปทานหมูกระทะ เจอป้ายนี้ที่ข้างร้านหมูกระทะกลางตัวเมือง เลยถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก(ส่วนจะเขียนว่าอะไร ลองอ่านดูครับ)

"ร้านหมูกระทะริมบึง" เขาบอว่าเป็นร้านหมูกระทะที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน

ส่วนใหญ่การอบรมที่เราจัด มักจะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้ผู้เข้าอบรมทุกคนได้มีส่วนร่วม ได้แสดงความรู้สึก ความคิดเห็น

เขียนไป เขียนมา ยาวมากแล้ว เพิ่งได้ ๒ จังหวัดซึ่งอยู่ในทริปที่ ๑ ของการอบรมเอง ซึ่งใช้เวลาอบรม ๒ สัปดาห์พอดี

ที่ต้องแบ่งเป็น ๒ ทริปใน ๓ จังหวัด เพราะกลัวว่าทีมงานเรา ซึ่งเป็นคนพิการรุนแรงเกือบทั้งหมด ทำทุกอย่างกันเองตั้งแต่ประสานงานเตรียมการอบรม บรรยาย ดำเนินการอบรม เลยหวั่นใจอยู่ลึกๆ กลัวจะไม่ไหว แม้กระทั่งตัวเอง ก่อนไปก็กังวลมาก เพราะไม่เคยห่างบ้านเป็นเวลาถึง ๒ อาทิตย์มาหลายปีเต็มที

แอบกังวลไปหมด กลัวนั่งนานๆ ทุกวัน ร่างกายจะรับไหวไหม, เนื้อหาและวิธีการจัดอบรมเหมาะสมหรือเปล่า, กลัวไม่ได้ผู้เข้าอบรมกลุ่มเป้าหมาย และจำนวนที่ต้องการ, ห่วงงานจะไม่บรรลุผลตามเป้า, ห่วงบ้าน ห่วงพ่อแม่ ฯลฯ

แต่สุดท้าย...ทุกอย่างที่กังวลก็ผ่านพ้นมาได้ เจอปัญหาก็ช่วยกันแก้ไข จนเสร็จสิ้น ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจทีเดียว

ชมรมรักษ์ภาษาไทย


2 ความคิดเห็น:

  1. ติดตามอ่านต่อ อยู่นะครับ

    ปรีดา

    ตอบลบ
  2. นึกว่าจะไม่เขียนเรื่องนี้เสียแล้ว เพราะหายเงียบไปตั้งนาน

    ตอบลบ