วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

๕๒. พ่อ ของ (คนพิการรุนแรง อย่าง) ผม

คิดอยู่นาน...ว่าจะเขียนเรื่อง "พ่อ" ดีหรือไม่ เพราะรู้สึกว่า ค่อนข้างจะเป็นเรื่องส่วนตัว

แล้วเหมือนเป็นหัวข้อเด็กประถมที่ครูสั่งให้เขียนเรียงความยังไงก็ไม่รู้

ประมาณว่า ทุ้ก...คน เขียนเรียงความมาส่งครูวันที่ ๔ นะ หัวข้อว่า “พ่อของฉัน”

แต่คิดถี่ถ้วนแล้ว สรุปเอาเองว่า เรื่องของ พ่อของผม น่าจะเป็นเรื่องของพ่อ

ที่มีความแตกต่างในรายละเอียดอยู่ เลยคิดเอาเองว่า น่าสนใจน่ะครับ (แหะๆ)

..

.

พ่อเป็นลูกคนจีน เกิดในครอบครัวชาวจีนที่ยากจน ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

พ่อเล่าให้ฟังบ่อยๆ ว่าตอนเด็กๆ เวลาพ่อกับพี่ชายฝาแฝด อยากได้กางเกงหูรูดสักตัว

ต้องไปคอยเก็บข้าวตก (ข้าวที่หลงเหลืออยู่ในท้องนาหลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว) ที่ทุ่งนาอยู่หลายวัน

เพื่อจะขาย ได้เงินมาซื้อ ด้วยฐานะที่ยากจน แถมมีพี่น้องตั้ง ๘ คน พ่อได้เรียนแค่ ป.๔

แล้วก้อต้องไปทำงานเลี้ยงตัวเอง โดยไปช่วยงาน ตามบ้านญาติ จนโตขึ้นมาหน่อย

ได้มาเรียนวิชาตัดเย็บเสื้อผ้า และทำเบาะรถยนต์ โซฟา ที่ชลบุรี พ่อบอกว่า

น่าจะเคยทำงานร้านเดียวพ่อของโน้ต อุดม (ไม่รู้ใช่ป่าว) แหม ไม่เบานะ พ่อ รู้จักพ่อดาราด้วย

จนเริ่มเป็นหนุ่ม จึงมาเปิดร้านของตัวเองที่ ศรีราชา ซึ่งยังเปิดกิจการอยู่จนทุกวันนี้

..

.

ปูพื้นเรื่องพ่อมายาวแล้ว เรื่องที่อยากเล่าอยู่ตรงที่เกี่ยวกับ “พ่อกับผม” มากกว่า

ที่จริง คนที่เคยอ่านบล็อกนี้มา จะทราบว่า ผมไม่ได้พิการมาแต่กำเนิด เพราะเกิดมาก็ครบ ๓๒

แถมเป็นเด็กน้อยน่ารัก น่าชัง อีกตะหาก (ขอนิสนึง อย่าเพิ่งหมั่นไส้นะครับ)

ตอนเด็กๆ ผมมีหน้าที่จะต้องตื่นแต่เช้าซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปตลาด เพื่อถือของให้พ่อทุกเช้า

พ่อบอกว่า ตื่นสายๆ เดี๋ยวไม่ทันทำกิน คงเพราะเชื่อพ่อ ตั้งแต่เด็กจนปูนนี้

แทบจะนับวันที่ตื่นสายเกิน ๗ โมงเช้าได้เลย เวลาที่ซ้อนมอเตอร์ไซค์พ่อไปไหน มาไหน

จะไม่เหมือนซ้อนคนอื่นเลย เพราะเอวพ่อจะหนานิ๊ด...นึง เวลากอด ตอนเด็กๆ

จะกอดได้แค่ครึ่งรอบเอง ตรงนี้ทำให้มั่นใจมากเวลานั่งด้วย (ฮ่า ๆ ๆ)

แล้วเอกลักษณ์ อีกอย่างคือ พ่อจะขี่มอเตอร์ไซค์เกียร์ ๓ เกียร์เดียว

ถ้าใครเคยมาศรีราชา แล้วสังเกต จะเห็นว่าเมืองนี้มีเนินทั้งเมือง เวลาขี่เกียร์เดียว

เครื่องมันจะร้อง อื๊ดดดดดดด แบบ.....ฉันจะหมดแรงแล้ว ช่วยเปลี่ยนเกียร์หน่อยเถอะ

แต่พ่อไม่เคยเชื่อมัน จนทุกวันนี้ พ่อสตาร์ทรถปุ๊บ ก็ออกไปเลย จนถึงกลับเข้าบ้าน

พ่อลากเกียร์ ๓ ตลอด พ่อส่งผมไปอยู่หอพัก ตั้งแต่ ป.๔ ซึ่งผมไม่เคยเข้าใจมาตลอดชีวิต

ว่าทำไมพ่อต้องให้ผมไปอยู่หอพัก ที่ห่างจากบ้านไม่ถึง ๓ กิโล จนมารู้ไม่กี่ปีนี้เอง

พ่อบอกว่า พ่อกับแม่ เรียนมาน้อย ทำให้สอนการบ้านผมไม่ได้ โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ

เลยต้องส่งผมไปอยู่หอพัก แต่สำหรับผมแล้ว ทุกวันนี้ถ้าใครถาม ผมจะแนะนำว่า

ลูกที่ยังไม่โตพอ บ้านเป็นสถานที่ที่เหมาะที่สุดสำหรับเขาแล้วครับ

แต่ในตอนนั้น พ่อผมมีเหตุผลที่แตกต่าง...ในความรักที่มีเหมือนกัน

..

.

ผมเรียนที่นั่นจนจบ ม.๓ จึงมาเรียนต่อที่ กรุงเทพ ซึ่งช่วงนั้นใช้ชีวิตเหมือนวัยรุ่นทั่วๆไป

ที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระ เหมือนนกที่เพิ่งหลุดจากกรง อยากไปเรียนก็ไป

เลิกเรียนก็เล่นดนตรี กีฬา สนุกสนานกับเพื่อนๆ ไปวันๆ แต่ก็ไม่ได้เกเรมากไปกว่านี้

ยังกลับมาบ้านทุกวันหยุด แต่...คำพูด คำสอนของพ่อแม่ที่เคยเชื่อฟังนี่สิ

ทำไมช่วงวัยนี้ถึงรู้สึกฟังแล้วขัดหูไปหมดไม่รู้ อาการแบบนี้ ไม่รู้ว่าเป็นกับผมคนเดียวหรือเปล่า

แต่ถ้าไม่ได้อยู่จนโต หรือได้ผ่านเหตุการณ์สำคัญของชีวิต วัยรุ่นแบบผม

ก็คงไม่มีวันรู้ซึ้งถึงความรักของพ่อแม่หรอก พูดถึงเรื่อง เหตุการณ์สำคัญของชีวิต

..

.

ขอข้ามมาคืนวันที่ ๑๐ มิ.ย. ๒๙ เลยนะครับ คืนนี้เป็นจุดหักเหของชีวิต

และเปลี่ยนความคิดที่ผ่านมาของผม อย่างมากมาย

คืนนั้นผมไปเที่ยวกับเพื่อน(เป็นครั้งที่ ๒-๓ ของการออกไปเที่ยวกลางคืนเอง)

จนเกิดอุบัติเหตุรถยนต์รุนแรง นาทีแรก...หลังจากลืมตาขึ้นมา พยาบาลถามเบอร์ติดต่อทางบ้าน

ผมบอกไป หลังจากนั้นไม่นาน พ่อกับแม่มายืนอยู่ข้างเตียงผมแล้ว แม่บอกว่า

พ่อขับรถมาแค่ ๔๕ นาที ในระยะทาง กว่า ๑๐๐ กม.

ข้ามสะพานที รถแทบบิน (สมัยนั้นยังไม่มีโทล์เวย์ มอเตอร์เวย์นะครับ)

จากวันนั้น ในช่วง ๒ เดือน พ่อแทบจะทิ้งร้าน เพื่อมาอยู่กับผมที่ รพ.ราชวิถี

ที่ รพ.พ่อจะหาอาหารที่ผมชอบมาให้ทุกวัน หาคนมาอยู่เป็นเพื่อนเวลาที่พ่อต้องไปทำธุระ

และขอให้หมอจ่ายยาที่ดีที่สุดให้ผม โดยไม่สนใจราคาเลย ที่จริง.....

..

.

พ่อรู้ตั้งแต่วันแรกๆ ว่าผมต้องกลายเป็นคนพิการตลอดชีวิต นั่น น่าจะเป็นเหตุผลที่ ...

ผมเห็นพ่อแอบร้องไห้หลายครั้ง ในขณะที่ผมยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรกับตัวเองต่อไป

คิดแต่ว่า เดี๋ยวก็หาย จะได้กลับไปเรียน ไปสนุกกับเพื่อน อีก พ่อเคยพูดกับผมว่า

“ถ้าเป็นแทนได้ พ่อจะเป็นแทนเอง” ผมตอบกลับไปแบบไร้เดียงสาว่า

“ชัยเป็นน่ะดีแล้ว ถ้าพ่อเป็น พี่พยาบาลมาพลิกตัวให้พ่อไม่ไหว ต้องใช้รถเครนยกเชียวนา”

จากนั้นผมแอบเห็น พ่อหัวเราะทั้งน้ำตา

..

.

จนวันกลับมาบ้าน ช่วงแรก เวลาจะอาบน้ำ พ่อทำเปลผ้าใบ

ที่พ่อเห็นเขาใส่ปลามาขายตามตลาดนัด แล้วช่วยอุ้มลงไปให้แม่อาบน้ำสระผมให้

คนที่เป็นอัมพาตนอนมานานๆ จะนั่งไม่ได้ นั่งแล้วหน้ามืดจะเป็นลม

พ่อก็ออกแบบรถเข็น โดยเอาเบาะรถยนต์มาดัดแปลงใส่ล้อ

เวลาที่เกิดหน้ามืด จะได้ปรับเอนลงได้ ในตอนนั้น เริ่มรู้ตัวแล้วว่า

จะต้องเป็นอัมพาต (ชนิดที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลยตลอดชีวิต)

แต่พ่อยังคอยให้กำลังใจตลอด ไม่ใช่คำพูด แต่ด้วยการกระทำ

..

.

ช่วงแรกๆ วิธีใดที่มีคนแนะนำว่าดี หายแน่ พ่อพาไปทำหมด

นวดน้ำมัน จับเส้น ฝังเข็ม ตลอดจนไสยศาสตร์ ทรงเจ้า เข้าผี ทั้งๆที่ไม่เคยเชื่อพวกนี้

แต่พ่อก็ยังยอมพาไป ๓-๔ ปีแรก ยังมีอาม่า(ย่า) อยู่ดูแลช่วยเหลือ พอหลังจากนั้น

เริ่มมี แผลกดทับ เพราะทั้งพ่อ และแม่ต้องไปค้าขาย ไม่ค่อยมีเวลามาดูแล พลิกตัวให้

ได้แต่มาป้อนข้าว เช็ดตัว ตามเวลา พ่อก็ทำแผลให้เอง สารพัดสูตรที่พ่อเชื่อว่าดี

พ่อกับแม่จะแบ่งหน้าที่กัน เช่น พ่อหุงข้าว ทำอาหาร และป้อนมื้อกลางวัน พร้อมทำแผล

แม่ป้อน เช้าเย็น และเช็ดตัว แปรงฟัน เป็นต้น ว่าจะเขียนสั้นๆ เขียนไปเขียนมาจบไม่ลงครับ

เพราะ ๔๐ ปีที่ผ่านมา สิ่งที่พ่อทำให้ผม ไม่รู้จะเขียนอีกเท่าไหร่ถึงจะหมด พูดถึงตรงนี้

นึกถึงเพลงๆ เดียวกับที่ผมนึกไหม “จะเอาโลกมาทำปากกาแล้ว เอานภามาแทนกระดาษ...”

เคยมีคำพูดหนึ่งจากพ่อ ซึ่ง ทำให้มีกำลังใจ ให้ผมที่จะมีชีวิตจนถึงทุกวันนี้ได้ พ่อบอกว่า

“ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร พ่อจะไม่มีวันทิ้งหรอก” ผมเลือกที่จะเริ่มเขียนบทความนี้ในวันพ่อ

แม้ว่าผมจะเขียนได้ช้ามาก (แลัวอาจไม่ทันเผยแพร่วันนั้น) ส่วนหนึ่ง

ผมต้องการความรู้สึกของวันพ่อ อยากให้หลายๆคน

ได้มีโอกาสอ่านบทความ (ที่ผมเขียนพร้อมคราบน้ำตา) นี้จัง

ถึงแม้มันค่อนข้างจะเป็นเรื่องส่วนตัวไปบ้าง แต่ถ้ามันทำให้

คนที่อ่านได้ระลึกถึงคนที่รักคุณที่สุด แล้วได้ตอบแทนพระคุณท่าน

ให้รีบทำซะ ถ้าไม่มีอะไรจะตอบแทนท่าน(แบบผม) อย่างน้อยบอกรักท่าน

ในวันที่ท่านยังสามารถรับฟังคุณได้



ชมรมรักษ์ภาษาไทย

3 ความคิดเห็น:

  1. ซึ้งครับ น้ำตาซึมตั้งแต่คำว่า “ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร พ่อจะไม่มีวันทิ้งหรอก”
    จาก แหลม จ.อุบลฯ

    ตอบลบ
  2. ไม่ว่าจะเป็นพี่แหลม หรือผมก็ตาม ผมคิดว่า เราสองคน เข้าใจพี่มากที่สุด ในฐานะเพื่อน (แบบเดียวกันเลยพี่)

    ขอบคุณพี่มากครับ ที่ทำให้ผมได้นึกภาพทุกภาพตอนที่ผมอยู่โรงพยาบาล ภาพทุกภาพตอนที่อาม้า (แม่) ผม และคนที่บ้านพยายามพาผมไปรักษาด้วยหลากหลายวิธี หรือแม้เมื่อสักครู่ที่อาม้าพึ่งจะเทปัสสาวะจากถุงเก็บปัสสาวะ ก่อนอาม้าจะนอน

    อยากบอกให้ผู้อ่านบทความของพี่กิตติชัยทุกท่าน ได้ทราบว่า

    "ให้รีบทำซะ ถ้าไม่มีอะไรจะตอบแทนท่าน(แบบผม) อย่างน้อยบอกรักท่าน

    ในวันที่ท่านยังสามารถรับฟังคุณได้"

    ตามที่พี่กิตติชัย เขียน อีกคนครับ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมจะสะเทือนใจทุกครั้ง หรือหลายครั้งที่ต้องน้ำตาซึม เวลาที่คุณเห็นคนที่คุณรัก ต้องดูแลคุณ ในความรู้สึกที่คุณควรจะดูแลคนที่คุณที่รัก

    ขอบคุณพี่กิตติชัย และผูอ่านทุกท่านครับ
    ปรีดา ลิ้มนนทกุล

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ29 มกราคม 2553 เวลา 15:00

    ลองเสิร์ชชื่อหมอคำมูล เข็มขาว (หมอเขี่ยเส้นล้านนา)ในgoogleแล้วพิจารณาดูนะคะ คุณหมอเคยรักษาคนไข้ที่อาการหนักกว่าคุณแล้วคนไข้อาการดีขึ้นค่ะ เอาใจช่วยค่ะ

    ตอบลบ