วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

๕."ใส่ใจทำไม กับน้ำที่หกออกไปจากแก้ว"




"ใส่ใจทำไม กับน้ำที่หกไป สนใจกับน้ำที่เหลือในแก้วดีกว่า"ผมเพิ่งเคยได้ยินการบรรยายคำนี้ มาประมาณ ๒ ปีนี้เอง แต่ที่ติดใจก็เพราะว่า ตัวผมเองมัวแต่เสียดายน้ำที่หกจากชีวิตผมไปถึง เกือบ ๑๗ ปีเต็ม! ครับ... หลังจากอุบัติเหตุเมื่อปี 2529 ผมได้ผ่านความรู้สึก และเหตุการณ์ต่างๆ มา อย่างมากมาย มันมากเสียจนไม่รู้จะเริ่มต้นเล่าตรงไหนดี



เด็กหนุ่มวัยรุ่นคนหนึ่ง กำลังมีชีวิตสดใส มีความหวังในชีวิต แต่จู่ๆ วันหนึ่ง เพียงความคึกคะนอง และความประมาท จากคนที่ "เมาแล้วขับ" เพียงครั้งเดียว ได้พลิกชีวิตของลูกชายคนเดียวของบ้าน รวมทั้งครอบครัวของเขาตลอดไป จนต้องกลายเป็นอัมพาตทั้งตัว และเป็นภาระให้คนทั้งบ้าน


ตรงนี่ น่าจะเป็นน้ำที่หกออกแก้วใบที่มีน้ำเต็มปรี่ อย่างทันที ทันใด และเป็นเหตุผลสำคัญ ๑ ในหลายเหตุผล ของการยอมรับตัวเองในสภาพความพิการ ไม่ได้! เนื่องจากการต้องพึ่งพาผู้อื่นในทุกๆ อย่าง การกินข้าว ดื่มน้ำ ขับถ่าย อาบน้ำหรือแม้แต่ แค่...ปัดมดที่ไต่หน้าอยู่ ที่สำคัญ คนที่เราเป็นภาระให้น่ะ ทั้งพ่อ แม่ อาม่า(ย่าซึ่งตอนนั้น อายุ ๖๖ ปีแล้ว) อีกทั้งน้องสาวที่อ่อนกว่าผมถึง ๑๑ ปี ความรู้สึกเป็นภาระเหล่านี้เอง ทำให้เรารู้สึกไร้คุณค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ในหัวสมองมีแต่ความคิดต่างๆ ฟุ้งซ่าน สับสน อยู่กับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เต็มหัว และความคิดไร้สาระตลอดเวลา



ในช่วงแรกที่พิการ ผมพยายามทุกวิถีทาง ที่จะปลดเปลื้องตัวเองจากสภาพที่เป็นอยู่ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้อื่นตลอดไป แต่เป็นอะไรสักอย่าง...... ที่ทำให้ผมมีชีวิตรอด ผ่านช่วงเวลาเหล่านั้น มาจนทุกวันนี้ วันที่ ผมมีความคิดแตกต่างจากตอนนั้นอย่างสิ้นเชิง วันที่รู้สึกว่าเรามีคุณค่า ทั้งต่อสังคม และครอบครัว วันที่กลับมามีตัวตน ในสังคมอีกครั้ง แม้ว่าในสภาพที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง แต่กลับรู้สึกว่า นั่นละ...คือเอกลักษณ์ของเรา นายกิตติชัย เนตรพิศาลวนิช คือ คนๆนี้ สภาพร่างกายแบบนี้ นั่งรถเข็นแบบนี้ ไปไหนทีก็ทุลักทุเลบ้างแบบนี้ การเข้าใจและยอมรับตัวเองในสภาพพิการ นี่เป็น เพียง ๑ เหตุผลที่ผมใช้ในการดำรงชีวิต ทุกวันนี้ครับ ยังมีอีกมาก แล้วจะค่อยๆเขียนให้อ่านนะครับ



น้ำที่เหลืออยู่ในแก้วของผมนั้น มีหลากหลายมุมมองมาก ถ้าในทางสภาพร่างกาย หลายคนก็ว่า "เป็นขนาดนี้(เหลือน้อยแค่นี้ )จะไปทำอะไรได้" ซึ่งตรงนี้ ไม่ว่าจะมาในทางคำพูดหรือกิริยา หรืออาการใดก็ตาม ผมจะไม่ให้ความสำคัญเลย แต่ในทางตรงข้าม ผมจะดีใจมากเวลาที่มีคนมาพูดกับผมว่า "ได้เห็นผม ฟังผม พูดคุยกับผม แล้วรู้สึกมีกำลังใจขึ้นมาเลยครับ", " ขนาดคุณยังสู้ ยังทำได้ ผมก็ต้องทำได้สิ" ฯลฯ คำพูดเหล่านี้ ทำให้ผมคงได้รู้สึกว่า น้ำที่เหลือน้อยในแก้วน้ำใบนี้ น่าจะพอมีประโยชน์บ้าง ต่อผู้ที่กำลังกระหาย ที่มีอยู่มากมายในสังคม


ขอขอบคุณอ.ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ผู้บรรยายเรื่อง "น้ำในแก้ว"



5 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับบทความนี้ของพี่ชัย ที่ให้กำลังใจกับผู้พิการรุนแรงทุกคน ถึงผมจะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้พิการรุนแรงแบบพี่ (เราพวกเดียวกัน) แต่พี่เป็นมากกว่าผม ผมขอเป็นกำลังใจให้กับผู้พิการทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มพิการรุนแรง พี่เป็นต้นแบบในด้านการทำเพื่อสังคม ผมกำลังพยายามทำอยู่ ตามวิธีการที่ผมถนัดครับ

    ขอบคุณครับ
    ปรีดา ลิ้มนนทกุล
    http://preedastation.blogspot.com

    ตอบลบ
  2. เป็นข้อคิดที่ดีมาก ผมป็นน้อยกว่าชัยยังคิดไม่ได้ขนาดนี้เลย ตอนนี้ก็ยังเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง
    จาก แหลม อุบลฯ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ13 มกราคม 2554 เวลา 20:50

    จะยังไงก็ได้ ขอเพียงมี ลมหายใจให้ดำรงชีวิตทุกรสชาติอย่างคุ้มค่าและมีคุณค่า เพราะเราจะอยู่ได้ก็ด้วยบุญกุศลเท่านั้นที่เป็นเสมือนสายใยแก้วแสงสว่างแห่งจิตใจ แก่เรา

    ตอบลบ
  4. ขอยกย่องกับแนวคิดการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ของเราให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า คนปกติยังทำได้ดีไม่เท่าคุณเลย สุดยอดคนเลยคะ สิ่งที่คุณทำเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์จริงๆคะ ยอมรับว่าตอนแรกดิฉันเข้ามาศึกษาหาวิธีการที่จะดูแลอาการป่วยของพ่อ แต่พออ่านและติดตามก็ได้ข้อคิดหลายๆอย่างในการใช้ชีวิตทำให้หันกลับมาดูตัวเองว่าเราได้ทำประโยชน์อะไรเพื่อคนอื่นบ้าง ต้องหันมาตรวจสอบตัวเองว่าทำงานคุ้มกับเงินเดือนแล้วยัง ไฟในการทำงานลดน้อยลงหรือเปล่า ชื่นชมพวกคุณจริงๆคะ

    ตอบลบ
  5. สุดยอดค่ะ 17ปีแห่งความหลัง
    คุณก้าวออกมาได้อย่างน่าชื่นชมจริงๆ (การยอมรับตัวเองในแบบคนพิการ ไม่ง่ายเลย)

    เรารู้จักและเคยร่วมงานกับคนพิการที่ต้องนั่งรถเข็นหลายคน
    พ.ท.ต่อพงษ์ คุณไหม คุณเสาวลักษณ์ คุณเอิร์ธ พี่โต้ง ฯลฯ

    ตอบลบ