วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2551

๑๔.พี่วิมล....คนพิการ ปัญหา และทางแก้

ที่หยิบเรื่อง พี่วิมลมาคุย ในบทก่อน ก็เพราะว่า ผมคิดว่า....ผม(คิดเอาเอง)ว่า ผม เข้าใจความรู้สึกพี่วิมลดี เพราะ เคยช่วงเวลาหนึ่งในชีวิต.... เวลาที่มีสถานการณ์มากดดัน บีบคั้น ในชีวิตสูงมากๆ ไม่ว่าจะ มาจาก ภายนอกตัวเรา หรือจากสภาพความพิการของตัวเอง ผมเคยคิด..แม้กระทั่งว่า หมา แมว ตัวนึงมันยังมีค่ากว่าผมเลย....

อย่างน้อย....มันก็ให้ความสุข สบายใจ กับคนอื่นได้ แล้วยัง ไม่เป็นภาระกับใครมากนัก อีกต่างหาก

เนื่องจาก...๕ ปีมานี้ ผมออกมา ทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการหลายด้าน จึงมีโอกาส พบเห็นชีวิตคนพิการมากมาย...หลายคน ในหลากหลายสถานภาพ ตั้งแต่โดนทอดทิ้ง ไม่มีใครรับผิดชอบ ต้องไปอยู่สถานสงเคราะห์ จนถึงคนพิการระดับผู้นำ หรือร่ำรวย(ทั้งครอบครัวมีฐานะอยู่เอง และสร้างฐานะด้วยตัวเอง)

เพราะฉะนั้น...พี่วิมลไม่ใช่คนพิการคนแรกและคนเดียวที่ผมเจอ แล้วคิดแบบนั้น แน่นอนครับ ตอนนี้...มาดูวิธีแก้ไขเบื้องต้น ที่เคยลองกันมา แล้วได้ผลกัน ครับ

พี่วิมล ควรได้รับบริการ การให้คำปรึกษาฉันเพื่อน (Peer Counseling)
จากบริการนี้ พี่วิมลจะได้รับการเยียวยาทางจิตใจ จาก "ผู้ให้คำปรึกษาฉันเพื่อน (Peer Counselor)" ซึ่งเป็นคนพิการด้วยกัน ผ่านประสบการณ์ชีวิต ที่ใกล้เคียงกันมาก่อน อีกทั้งยังเป็นโอกาสได้พบ คนพิการต้นแบบ (Role Model สำคัญมากครับ ตัวผมและคนพิการหลายคน พลิกชีวิต เพราะกระบวนการนี้)

ถ้ามีองค์กรคนพิการท้องถิ่นที่เข้มแข็ง สามารถประสานขอการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เรื่องกายอุปกรณ์ (สามารถเบิกจากรพ.ประจำจังหวัดได้ฟรี)ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ค่าจ้างผู้ช่วยเหลือ ช่วยทำกิจวัตรประจำวัน วันละ 2-4 ชั่วโมง(ตรงนี้ ที่จริง อยากให้เป็น "รัฐสวัสดิการ " สำหรับคนพิการรุนแรง เลยครับ เพราะจำเป็นมากๆ)


ที่จริงแล้วคำว่า"คนพิการ" ในบางประเทศที่เจริญแล้ว หรือตามแนวคิดแบบการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ (Independent Living หรือ IL) ไม่มีนะครับ มีแต่ สิ่งแวดล้อมที่พิการ สังคมที่พิการ

เช่น"คนพิการ แขน ขา" ถ้าได้ แขน ขาเทียม ที่เหมาะสม..ก็จะสามารถใช้ชีวิต เฉกเช่น "คนไม่พิการ" ส่วน"คนพิการ ที่ต้องนั่งรถเข็น" ถ้าเขาสามารถไปไหนมาไหน โดยรถสาธารณะ เข้าออกอาคารสถานที่ ต่างๆ โดยมี ลิฟท์ ทางลาดให้เขา เขาก็สามารถไปเรียน หรือไปทำงานได้ เช่นคนไม่พิการ
หรือถ้า "พิการรุนแรง" ก็ควรมี"ผู้ช่วยเหลือ"ตามความจำเป็น

"คนหูหนวก และตาบอด"ก็เช่นกัน ถ้ามี"ล่ามภาษามือ" ให้คนหูหนวก หนังสืออักษรเบรล หนังสือเสียง หรือโปรแกรมช่วยคอมพิวเตอร์ สิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับ คนตาบอด และหูหนวก พวกเขาก็สามารถ สื่อสารกับคนอื่นๆ ไปเรียนหนังสือ ทำงานและรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆได้


ที่สำคัญ....."กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์" ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับคนพิการโดยตรง ก็เป็นกระทรวงเกรด D- ในสายตาของนักการเมืองไทย(ดู รมต.คนปัจจุบันสิครับ วันก่อน...เห็นที่กระทรวงอยู่หลัดๆ จะโดนสอย....ซะแล้ว)


ผมมักจะ...โดนคนพิกาาร รวมทั้งญาติๆ นำมาเป็นข้ออ้างบ่อยๆ ว่า...ที่ผมมีชีวิตแบบนี้ได้ เพราะว่า ครอบครัว และฐานะทางสังคมของผมดีกว่าเขา ยอมรับว่า....ก็อาจจะมีส่วนจริงอยู่ครับ แต่ถ้า ผมไม่ยอมรับตัวเอง แล้วเปิดตัวออกมาในวันนี้ ผมคงยังนอนจม อึ ฉี่ อยู่อย่างแน่นอนครับ

ในอีกด้าน ผมเห็นคนพิการรุนแรงอีกหลายคน หลังจาก...ได้รับการฟื้นฟู มีกำลังใจขึ้นมาแล้ว จะพยายามช่วยเหลือตนเอง เท่าที่พอทำได้ เพื่อลดความเป็นภาระลงไป

ลองฟังเรื่องราวของคนพิการ คนนึงนะครับ

วันแรกที่พบพี่สิงห์ เมื่อ ๖ เดือนก่อน ที่ช่องแสมสาร สัตหีบ พี่เป็นอัมพาตจากอาการป่วยที่ไขสันหลง ที่เขาต้องนอนมาเพราะ ใครๆ ก็บอกว่า... แกนั่งรถเข็นปกติไม่ได้ กินข้าวเองไม่ได้ ต้องนอนให้แม่อายุ เกือบ 80 ป้อนข้าว น้ำ เช็ดตัว จนขาเป็นคราบไคลหนา ข้อเท้าติด แข็ง ปลายเท้าจิกลง เพราะไม่ได้รับถ่ายทอด วิธีการดูแลตัวเอง อย่างถูกต้อง(เรื่องครอบครัวขอเว้นไว้ในฐานที่เข้าใจนะครับ แต่ บอกได้แค่ว่า...ไม่ได้เพียบพร้อม แต่อย่างใดเลยครับ)

สภาพปัจจุบัน


ร่างกายแข็งแรงขึ้น สามารถเข็นรถเองได้แล้ว ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น กินข้าวได้ด้วยตัวเอง แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สะอาดสะอ้าน อาสาสมัครออกมาช่วยเหลือคนพิการอื่นๆ ช่วยลดภาระของแม่ไปได้เยอะเลย

ที่เล่ามานี้....เป็นแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่ง ของปัญหาคนพิการในเมืองไทย(ที่จริง อยากเอามาลงหลายคน แต่ กลัวขออนุญาตเจ้าตัวลำบาก) ซึ่งตอนนี้...แก้ไขกันแบบตามมีตามเกิด โดยองค์กรคนพิการกันเองนี่ละครับ (Self Help Organisation) อันที่จริง...ถ้าจะแก้ไขอย่างจริงจัง ก็ควรต้องแก้ ให้เป็นระบบ อาจจะ เริ่มต้นจาก ใช้กระบวนการ สร้างพลัง ความเข้มแข็ง ความมั่นใจในตัวคนพิการขึ้นมาก่อน (Empowerment)


หลังจากได้รับการฟื้นฟูทางจิตใจแล้ว ก็ใช้ระบบสวัสดิการสังคม ขึ้นมารองรับ ในสิ่งที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน (อาจจะเป็นไปได้ยากหน่อย....ที่จะทำตรงนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมในเมืองไทย ไม่อยากไปเทียบกับประเทศร่ำรวยอื่นๆ )

ในประเทศที่มีสวัสดิการสังคมดี เขาเก็บภาษีสูงมาก เพื่อไปใช้เป็น"รัฐสวัสดิการ"แต่ว่า.....ประเทศเรามีคนยากจนเยอะ ใช้ระบบเก็บภาษีต่ำ(พวกเราต้องหาเงิน เก็บเงิน เพื่อดูแลชีวิตตัวเอง) จึงทำให้สวัสดิการสังคมน้อยไปด้วย

เห็นมาเยอะแล้ว ชีวิตคนเรา ไม่แน่ ไม่นอนครับ บางที ก็เลือกไม่ได้ว่าจะอยู่ จะตาย หรือจะพิการ อดีต ...ไม่มีวันหวนคืนมาเหมือนสายน้ำ ได้แต่คิดว่า.....ทำวันนี้ให้ดีที่สุดครับ

ยิ่งเขียน ยิ่งฟุ้งซ่านไปกันใหญ่แล้ว...เรา เรื่องใหญ่ขนาดนี้ ก็แอบหวังว่า อนาคตจะมีผู้บริหารประเทศมีญาติพี่น้องพิการซักคน (ไม่ได้แช่งใครนะครับ.... คนเรามันไม่แน่ จริงปะ) เขาคงจะเห็นความสำคัญของปัญหาคนพิการกันซะที ไม่ใช่ กวาดเอาไปเก็บไว้ใต้พรม เหมือนที่ผ่านมาครับ

ไปละครับ พรุ่งนี้ต้องไปไหว้ วันตายอาม่า ครบรอบ ๑๙ ปี คิดถึงอาม่าที่สุดเลยยยยย

เดี๋ยวโทรไปขออนุญาตพี่สิงห์ก่อนนะครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

http://kittichaiblog.blogspot.com/2008/03/blog-post_19.html

3 ความคิดเห็น:

  1. บทความนี้ ปรบมือให้ ยอดเยี่ยมครับ ผมเริ่มมีไอเดียอะไรบางอย่าง ขอเวลาคิดอีกสักนิด จะพยายามต่อยอดแนวทางที่ควรจะเป็น คิดจนเป็นกระบวนการได้แล้ว จะลองปรึกษาพี่ดู ว่ามีทางเป็นไปได้ไหม ครับ

    ขอบคุณครับ
    ปรีดา ลิ้มนนทกุล
    ผู้ทุพพลภาพมืออาชีพ

    ตอบลบ
  2. ตอนจบของบทความนี้ดีมากๆ อยากจะให้ผู้บริหารประเทศเขาได้สำผัสการใช้ชีวิตของผู้พิการรุนแรงอย่างพวกเราเขาจึงจะตาสว่างบ้าง
    จาก แหลม จ.อุบลฯ
    อยากให้ชัยตั้งหน้าแสดงความคิดเห็นเป็นpop upจะได้ไม่เสียเวลาในการโหลดหน้าใหม่ครับ ิ

    ตอบลบ
  3. ศรีสุภลักษณ์ เวชวิรุฬห์23 เมษายน 2553 เวลา 16:02

    เป็นครั้งแรกที่เปิดเวบคนพิการอ่าน ได้ความรู้เยอะมากและเห็นปัญหาว่าการรอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐเหมือนข้าวคอยฝน ดังนั้นคนพิการต้องมีพลังจากครอบครัว ชุมชน ที่แข็งแรงจะทำให้ต่อสู่้เพื่อสิทธิที่ควรได้และสามารถร่วมรับผิดชอบต่อสังคมได้ ถ้ามีโอกาสทำงานสื่อสาธารณะได้ จะขอคำปรึกษาหรือเชิญร่วมรายการนะคะ
    ยินดีช่วยเหลือคะ

    ตอบลบ