วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

๒๑.จริต ๖ ที่มีในตัวเรา

จริต ๖
ข้อมูล ลักษณะของผู้ที่มีจริตต่าง ๆ

๑)ราคจริต
ลักษณะของผู้ที่หนักในราคจริต

๑. มายา เจ้าเล่ห์
๒. โอ้อวด
๓. แง่งอน
๔. มักมากในกาม
๕. ปรารถนามาก
๖. ไม่ถือสันโดษ
๗. มีความอยากเป็นใหญ่

ผู้มีจริตนี้ จิตจะท่องเที่ยวไปในอารมณ์ที่รักสวยรักงาม คือ พอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนิ่มนวล ชอบการมีระเบียบ สะอาด ประณีต พูดจาอ่อนหวาน ไม่ชอบความเลอะเทอะ

๒)โทสจริต
ลักษณะของผู้ที่หนักในโทสจริต

๑. มักโกรธ
๒. ผูกอาฆาต
๓. ลบหลู่พระคุณ
๔. ถือตัว
๕. ริษยา

ผู้มีจริตนี้ มักมีอารมณ์มักโกรธ เป็นคนใจร้อน โมโหง่าย จะแก่เร็ว พูดเสียงดัง เดินแรง ทำงานหยาบ ไม่พิถีพิถันในการแต่งตัว

๓)โมหจริต
ลักษณะของผู้ที่หนักในโมหจริต

๑. หดหู่ง่าย
๒. เคลิบเคลิ้ม
๓. ฟุ้งซ่าน
๔. รำคาญใจ
๕. ถือมั่นในสิ่งที่ยึดถือ ถืองมงาย
๖. สละสิ่งที่ยึดถือ (เช่น อุปาทาน) ได้ยาก

ผู้มีจริตนี้ มักมีอารมณ์จิตลุ่มหลงในทรัพย์สมบัติ ชอบสะสมมากกว่าจ่ายออก มีค่าหรือไม่มีค่าก็เก็บหมด เห็นแก่ตัว อยากได้ของคนอื่น แต่ของตน ไม่อยากให้ใคร ไม่ชอบบริจาคทานการกุศล

๔)วิตกจริต
ลักษณะของผู้ที่หนักในวิตกจริต

๑. คิดพล่านไปต่าง ๆ นานา
๒. เคลือบแคลง
๓. ย้ำคิด ย้ำทำ
๔. มีกิจไม่มั่นคง จับจด
๕. ตระหนี่

ผู้มีจริตนี้ มักมีอารมณ์ชอบคิด ตัดสินใจไม่เด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินใจ คนประเภทนี้เป็นโรคประสาทมาก มีหน้าตาไม่ใคร่สดชื่น แก่เกินวัย คิดหาเรื่องทุกข์ใจใส่ตัวตลอด หาความสุข สบายใจได้ยาก

๕)สัทธาจริต
ลักษณะของผู้ที่หนักในสัทธาจริต

๑. ชอบบริจาคทรัพย์
๒. ใคร่เห็นพระอริยะ
๓. ใคร่ฟังพระธรรม
๔. เชื่อคนง่าย
๕. ไม่ตรึกตรอง
๖. ไม่มีมารยา

ผู้มีจริตนี้ มักมีจิตน้อมไปในความเชื่อ เป็นอารมณ์ประจำใจ เชื่อโดยไร้เหตุผล ผู้มีจริตนี้ถูกหลอกได้ง่าย เพราะใครแนะนำ ก็เชื่อโดยไม่ ไตร่ตรอง พิจารณา

๖)พุทธิจริต
ลักษณะของผู้ที่หนักในพุทธิจริต

๑. เข้าใจในสิ่งต่างๆ
๒. มีมิตรดีงาม
๓. รู้ประมาณในโภชนาการ
๔. ระลึกและรู้สึกตัว
๕. ประกอบความเพียร
๖. สลดใจในสิ่งที่ควรสลด

ผู้มีจริตนี้ จะเป็นคนเจ้าปัญญา เจ้าความคิด มีความฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ การคิดการอ่าน ความทรงจำดี มีโอกาสในการบรรลุ มรรคผลได้ง่าย

อารมณ์ที่กล่าวมา ๖ ประการนี้ ในบางคนมีอารมณ์ทั้ง ๖ อย่าง นี้ ครบถ้วน บางคนก็มีไม่ครบ มีมากน้อย แตกต่างกันไป

อารมณ์ที่แต่ละคนมีอยู่ อาจจะคล้ายคลึงกัน แต่ความเข้มข้นรุนแรงไม่เสมอกันนั้น เนื่องจากบารมีที่ได้เคยอบรมมาไม่เสมอกัน

จริต ๖ ที่ กล่าวมาข้างต้นนั้น มีทั้งที่เป็น สัมมาจริต หรือจริตในทางที่ดี และ มิจฉาจริต หรือ จริตที่จะนำพาเราไปในทางเสื่อม

สำหรับจริต สิ่งที่ควรรับการอบรมฝึกฝน ให้มียิ่งขึ้นๆ นั้น คือ พุทธิจริต

การฝึกจิต ให้มี สติสัมปชัญญะ ส่งผลให้ รับรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นในทุกขณะจิต การรู้เท่าทัน ในทุกๆ อารมณ์ของจิต เสมือนติดเบรคให้กับจิตใจ ไม่ปล่อย กาย ใจ ให้ท่องเที่ยวเตลิดไปกับจริตต่างๆ ของเรา

และ ได้เข้าใจ ถึงอารมณ์ต่างๆ ที่เกิด ว่า...ที่แท้ก็ เพียง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันแค่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป.......ก็ เท่านั้น

ปล. มีหลังไมค์ ถามมาว่า ทำไมเปลี่ยนมาเขียนแนว ธรรมะแล้วหรือ
คำตอบคือ "คงไม่ใช่หรอกครับ"
ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้น เพราะได้รับการติดต่อจาก บลอกเกอร์ท่านหนึ่ง ติดต่อเข้ามา บอกว่า อยากจะรวมเล่ม เพื่อเป็นธรรมทาน แล้วคิดว่าผมคงจะเขียนได้ ผมจึงหาข้อมูล แล้วลองเขียนดู
เรื่องต่อๆ ไป คงจะเป็นแนวเดิมเป็นหลัก อาจจะมีแนวอื่น สอดแทรกมาบ้างครับ
ขอบคุณทุกท่านครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีพี่ บังเอิญเขียนแนวเดียวกันอีก แนวธรรมะ แต่ผมไม่มีอะไรเลย แค่เป็นเรื่อง "ความจริงของ ทาน ศีล ภาวนา" ครับ

    ตอบลบ