วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

๔๓. มิตรภาพบำบัด.....ใจ

วันที่ ๘ และ ๑๑ มกราคม ที่ผ่านมา... คณะทำงาน IL จากชลบุรี ได้รับมอบหมายจากสภา IL ซึ่งได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก สปสช. ให้ไปจัดกลุ่มสนับสนุนคนพิการ(Peer Support Group) ให้กับกลุ่มชมรมคนพิการเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา และกลุ่มคนพิการ อ.ขลุง จ.จันทบุรี

ทั้้งสองแห่ง มีคนพิการหน้าใหม่ ซึ่งหมายถึง เพิ่งประสบอุบัติเหตุ พิการได้ไม่นาน หรือยังไม่เคยเข้าสมาคมกลุ่มคนพิการด้วยกันมาก่อนหลายคน (หลังรู้จักกันสักพัก มักเรียกตอนนั้นว่า "ก่อนเข้าวงการ" ฟังทีไร รู้สึกเหมือนเป็นวงการบันเทิงหรือวงการนักเลง ยังไงไม่รู้สิ)

๘ มกราคม ๕๒ ช่วงเช้าจะมีการบรรยายถึงสิทธิต่างๆ ของคนพิการและแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ (IL) ให้กับคนพิการและญาติฟัง

ช่วงบ่ายมีการแบ่งกลุ่มเป็น ๒ กลุ่ม คือกลุ่มคนพิการ

และกลุ่มญาติหรือผู้ดูแล

กิจกรรมกลุ่มสนับสนุนเป็นไปด้วยดี การได้มาพบเพื่อนๆ ที่เคยผ่านประสบการณ์ชีวิตคล้ายๆกัน ได้มาแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึกหรือระบายความขุ่นข้องหมองใจที่เก็บกดไว้ ทำให้หลายคนชอบเวลามีกิจกรรมแบบนี้


หลังเสร็จสิ้นภารกิจที่ รพ. ก่อนเดินทางกลับบ้าน แวะไปไหว้หลวงพ่อโสธร เหมือนหลายๆ ครั้งที่มีโอกาสมาแปดริ้ว ขณะที่กำลังอยู่ในโบสถ์ มีผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งกระหืดกระหอบตามเข้ามา บอกว่า สามีเธอเห็นผมบังคับรถไฟฟ้าด้วยคางเข้ามาในโบสถ์ เขาสนใจมาก อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับรถไฟฟ้าคันนี้

ออกมาข้างนอกก็เห็นรถโฟล์คคาราเวลคันหรูจอดอยู่ที่หน้าโบสถ์ ในรถมีผู้ชายรูปร่างใหญ่นั่งอยู่ ที่คอมีท่อเครื่องช่วยหายใจติดอยู่(เหมือนเบน) ยังพูดไม่มีเสียง เวลาจะคุยจะจุ๊ปาก แล้วใช้วิธีให้ภรรยาอ่านปาก พูดให้เราฟังอีกที คุยไปคุยมาจึงรู้ว่าเป็นอดีต รองนายก อบต.แห่งหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นข่าวดังเมื่อปลายปี ๒๕๕๐

รู้สึกค่อนข้างแปลกใจปนดีใจมากๆ...ที่มาเจอกันแบบบังเอิญขนาดนี้ เพราะคนที่พิการหนักขนาดนี้ในเมืองไทยคงมีคงมีน้อยคนมาก คุยกันอยู่นานพอสมควร ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลหลายอย่างเกี่ยวกับกายอุปกรณ์ต่างๆ การดูแลตัวเอง การใช้ชีวิตบนรถเข็นที่ต้องเปลี่ยนไปจากเดิม...


 ๑๑ มกราคม ๕๒ อ.ขลุง ไกลจากเมืองชลเราหลายร้อยกิโล จึงตัดสินใจออกเดินทางไปเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันที่ ๑๐ ระหว่างเดินทางรถตู้เกิดอุบัติเหตุเพลาหักที่ มาบข่า จ.ระยอง ทั้งรถเลยต้องวิ่งหาปั๊ม หลบแดดตอนรอช่างมาซ่อมรถ

ลองชมวีดิโอที่น้องเขาใช้มือถือถ่ายเก็บไว้ ตอนใช้รถไฟฟ้าวิ่งบนถนนมาที่ปั๊มนะครับ ว่าน่าตื่นเต้นแค่ไหน (เสียดายไม่ได้ถ่ายตั้งแต่แรก โดยเฉพาะตอนข้ามถนน บางนา-ตราด)

*มีเสียงคนถ่ายแทรกเล็กน้อย แต่ผมว่าเป็นธรรมชาติดีนะ

เสียเวลาไปกว่า ๓ ชั่วโมง แต่ในที่สุดก็มาถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพเอาตอนมืดพอดี ทั้งๆ ที่ตั้งใจจะมาถึงบ่ายๆ จะได้พักผ่อนสบายๆ ที่นี่เราเข้าพัก และจัดกลุ่มสนับสนุนในสถานที่เดียวกันเลย เป็นรีสอร์ทเล็กๆ ชื่อว่า เรือนภูเลรีสอร์ท ในห้องที่เราทานข้าวเย็นกันมีคาราโอเกะด้วย ก่อนไปนอนเลยจัดไปซะ ๑๐ กว่าเพลง (แหะ....แก้เหนื่อย แก้เครียดน่ะคร้าบ)

๙.๐๐ น. เช้าวันที่ ๑๑ คนพิการและญาติ ในพื้นที่ ขลุง ค่อยๆ ทยอยกันเดินทางมา ที่นี่มีหลายคนที่ไม่เคยออกจากบ้านไปไหนเลย นอกจาก โรงพยาบาล(ซึ่งเป็นไฟท์บังคับ) บางคนได้รถเข็นมาเป็นปี เพิ่งจะมาแกะห่อพลาสติกที่นี่เลย

รูปแบบกิจกรรมก็จะคล้ายกับที่ แปดริ้วเปี๊ยบเลย แต่ที่นี่แปลกอย่างหนึ่ง ตรงที่ ที่นี่มีผู้หลักผู้ใหญ่เยอะมาก นายกเทศบาลที่เชิญไว้มาไม่ได้ ประธานสภาเลยมาแทน รองประธานสภาก็มา แล้วยังมีกำนันอีก มาแล้วได้หาเสียงสักนิดสักหน่อยก็ยังดี แต่ดีที่เขาไม่ได้ขอแทรกในช่วงที่เราต้องการความเป็นส่วนตัว

พักเที่ยง อดีตนักร้องเก่าออกมานอนร้องเพลงให้ฟัง หลังจากที่ไม่เคยจับไมค์มาเป็นสิบปี แรกๆ ต้องคยั้นคะยอให้ร้อง พอจับไมค์แล้ว มีลูกสาวให้กำลังใจอยู่ข้างๆ เลยจัดให้ซะหลายผลงานเพลง

ตอนบ่ายๆ มีโอกาสคุยกับผู้เข้ากลุ่มคนหนึ่ง เป็นผู้ใหญ่บ้าน  ตั้งแต่ประสบอบัติเหตุทางรถยนต์และบาดเจ็บไขสันหลังจนเป็นอัมพาตมา ยังไม่เคยออกจากบ้านไปไหนเลย นอกจากโรงพยาบาล ท่านตกเป็นจุดสนใจเพราะวันนั้นใส่กางเกงของ รพ.จังหวัดจันทบุรีมาด้วย ผู้ใหญ่บ้านคนนี้เล่าว่าเคยเป็นประธานพิจารณาเบี้ยยังชีพคนพิการในพื้นที่มาก่อน เมือก่อนไม่ได้คิดอะไรกับเบี้ยยังชีพห้าร้อยบาทนี้ แต่ว่าตอนนี้ต้องเป็นคนมารับเอง รู้สึกว่ามันน้อยมาก และใช้ทำอะไรไม่ได้เลย

ก่อนหน้านี้ ตั้งใจจะลาออก เพราะตั้งแต่พิการมา คิดว่าตัวเองคงทำอะไรไม่ได้แล้ว จึงไม่เคยไปทำงานเลย ตอนเย็นหลังทำกลุ่มสนับสนุนแล้ว ได้ฟังเรื่องราวของคนอื่นที่พิการหนักกว่า แต่กลับมีอาชีพการงานทำ เลยปลี่ยนความคิดว่าจะไม่ลาออกแล้ว และจะลองไปทำงานผู้ใหญ่บ้านดูอีกที

กลุ่มสนับสนุนคนพิการ(Peer Support Group) มีลักษณะคล้ายกับกิจกรรมมิตรภาพบำบัด หรือการใช้กลุ่มบำบัด  ที่ สปสช. สนับสนุนให้กลุ่มต่างๆ ทำ มีประโยชน์มาก  ในผู้ป่วยโรคทางร่างกาย  หรือโรคทางจิตเวช ตลอดจนผู้มีปัญหาอื่นๆ เช่น กลุ่มผู้ติดสุรา กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การเรียนรู้ในกลุ่ม...ส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกร่วมกัน  อยากช่วยเหลือกัน  เรียนรู้จากคนอื่นๆ ในกลุ่มด้วยกันเอง  เกิดความภาคภูมิใจในตนเองที่ตนเองเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น  ฝึกทักษะบางอย่างที่ไม่สามารถฝึกในที่อื่น 

คนพิการหน้าใหม่ เกิดขึ้น(เข้าวงการ)ทุกๆ วัน จากอุบัติเหตุจราจร ประมาทเมาแล้วขับ หรือจากการผิดพลาดง่ายๆ เช่น ที่จันทบุรี เมืองผลไม้ แต่กลับมีคนที่พิการจากตกต้นเงาะอยู่หลายคน ตลอดจน เรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นในสังคมสัตว์ประเสริฐอย่างเรา เช่น ความพยายามเอาชีวิตกันเอง

บ้านเมืองเตรียมอะไร เอาไว้รองรับคนไทยที่เคยทำงาน เคยเสียภาษี กลุ่มนี้ไว้เพียงพอหรือยังครับ.....

ชมรมรักษ์ภาษาไทย


3 ความคิดเห็น:

  1. ดีจังที่มีการจัดแบบนี้ ค่าใช้จ่ายใครออกหนอ

    ตอบลบ
  2. "ได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก สปสช. ให้ไปจัดกลุ่มสนับสนุนคนพิการ(Peer Support Group)"

    บรรทัดที่ 2 นะครับ พี่แหลม

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ4 กันยายน 2552 เวลา 10:18

    กำลังทำโครงการสำหรับคนพิการ คือ เพื่อนม้าผู้บำบัด
    ตอนนี้อยู่ในช่วงเริ่มแรก เป็นน้องใหม่ค่ะ ตอนนี้เริ่มมีสมาชิกที่สนใจมาขี่ม้ากายภาพบำบัดแล้ว เป็นอีกโอกาสสำหรับคนพิการ ค่าใช้จ่ายน้อยมาก ไม่ว่ารวยหรือจน เราไม่แบ่งแยก เพราะเป็นงานที่ทำขึ้นเพื่อเพื่อนมนุษย์ค่ะ อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ค่ะ

    ตอบลบ