วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552

๔๖. กินข้าวกลางดงเสือ และ สปสช.ความหวังของคนพิการ

 

๑๘ มีนาคม ที่ผ่านมา หลังจากที่...สภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการประเทศไทย(TIL)ได้เสนอ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รับรองให้ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ(ILC)เป็นหน่วยงานบริการทางเลือกของ สปสช. ตั้งแต่เมื่อปีก่อน และมีการประชุมเบื้องต้นร่วมกันมาแล้ว

 
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. ได้เสนอความคิดว่าควรจัดประชุมร่วมกันเพื่อทำโครง

การ หาแนวร่วมคนพิการที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้

(แม้ตอนนี้ รูปนี้จะดูไม่ค่อยเกี่ยวนัก แต่ขอเอาไว้ตรงนี้ก่อนนะครับ จะได้ขึ้นหน้าแรก ชอบส่วนตัว ฮี่ๆ)

จากการรับฟังการนำเสนอในที่ประชุม สปสช.เชื่อมั่นว่าแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ(IL Concept) มีศักยภาพที่จะฟื้นฟูสภาพจิตใจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้ แต่ขอให้มีแนวร่วมมากกว่านี้ มีมาตรฐานองค์กร การบริหารจัดการ สถิติผู้ใช้บริการ ฯลฯ จึงมีมติว่าจะมาดูงานที่ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ(CILC) ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์พระมหาไถ่ พัทยา

ระหว่างทาง TILจึงเสนอให้แวะดูงานด้านคนพิการเทศบาลตำบลเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ซึ่งเป็นเทศบาลที่ให้ความสำคัญกับงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ไม่เน้นงานสงเคราะห์เหมือนเทศบาลอื่น

นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเจ้าพระยาสุรศักดิ์ บรรยายถึงบงานในเทศบาลให้ผู้เยี่ยมดูงาน

ตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนที่สนใจแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ เข้าร่วมรับฟัง

กลุ่มคนพิการจากจังหวัดต่างๆ ที่สนใจแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ

หลังจากรับฟังการบรรยายสรุปผลงาน นายกฯ อาคม พันธุ์เฉลิมชัย ชวนคณะพวกเราไปทานข้าวกลางวันกันที่ สวนเสือ ศรีราชา

ห้องอาหารที่นี่ จำลองให้ล้อมรอบไปด้วยหุบเสือ โดยมีกระจกกั้นไว้ มีบางทีมองไป เห็นเขาจ้องเราตาเป็นมัน เลยรู้สึกเข้าใจความรู้สึกของน้องๆ ชูวิทย์ขึ้นมาทันที  (จริงๆ นะ คนเรา ถ้าไม่เคยผ่านประสบการณ์เดียวกับเขามา ก็ไม่มีวันเข้าใจเขาอย่างแท้จริงได้หรอก)

เสือดูคนกินข้าวไป คนดูเสือเล่นกันไป  เพลิดเพลินไปอีกแบบ เป็นที่ตื่นตา ตื่นใจแก่คณะมาก...

ทุกคนตื่นตา ตื่นใจกันอย่างมาก นี่แหละครับ...จึงเป็นที่มาของภาพนี้ (พิมพ์ซะเมื่อย กว่าจะตะล่อมเข้าภาพตัวอย่างได้เสื้อลายดอกแบบนี้ ชาวศรีราชาจะนิยมใส่ช่วงหน้าร้อน เทศกาล วันไหล และกองข้าวครับ)

หลังจากกินข้าว(ให้เสือดูเสือ) จนเราอิ่มแล้ว คณะของเราเดินทางมาประชุมต่อที่ห้องประชุม ศูนย์พระมหาไถ่ พัทยา  มีการนำเสนอผลการทำงาน ปัญหา อุปสรรคที่ผ่านมาของTIL รวมถึงโครงการต่อทันทีจนถึงค่ำ

๑๙ มีนาคม วันที่ ๒ ของการประชุม นพ.ยุทธ โพธารามิก ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารประชาสัมพันธ์และคุ้มครองสิทธิ์ สปสช. เดินทางมาเป็นประธานการประชุม
อ.อุดมโชค ชูรัตน์ ประธาน TIL และผอ.รร.อาชีวะมหาไถ่ พัทยา พาเยี่ยมชมโรงเรียน และอาคารสถานที่ต่างๆ ของศูนย์พระมหาไถ่ 
ชมบรรยากาศการเรียน การสอนของ รร. ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน
สายๆ จึงเริ่มประชุมคณะอนุกรรมการฯ ของ สปสช.ครับ

แม้พวกเราจะไม่ได้เป็นกรรมการ แต่ก็ได้รับเกียรติให้เข้าฟังด้วย

บรรยากาศการประชุมเป็นกันเองแต่เต็มไปด้วยสาระ ได้ความรู้มากเลยครับ

จบการประชุม ตั้งแต่ยังไม่ถึงเที่ยง เลยประชุมกันเองต่อ เอาไงดี สปสช.บอกว่า ถ้าพวกเราอยากให้ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ(ILC) มีความยั่งยืนในเมืองไทยก็ควรต้อง ทำให้เป็นนโยบาย และถ้าเป็นนโยบายก็ต้องมี ILC ทั่วประเทศสัก ๑๐-๒๐ แห่ง แล้วก็ต้องมีระบบการทำงาน ค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน และ ฯลฯ.........

ว่ากันว่า...งานคนพิการในเมืองไทยเป็นงานยาก แต่ถ้าไม่เข้าถ้ำเสือ จะได้รู้เหรอ ว่าเสือก็น่ารักเหมือนแมวได้  ทำกันมาตั้งหลายปีแล้ว สิ่งที่ไม่เคยคิดฝันว่าจะเห็นในชาตินี้ ก็เริ่มเห็นแล้ว เช่น เรื่อง พรบ.ควบคุมอาคาร กฎหมาย ผู้ช่วย คนพิการ และอีกหลายๆ อย่าง ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว

 

ถ้าเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าจะเป็นก้าวสำคัญของงานด้านคนพิการในเมืองไทย ที่เคยเน้นการสงเคราะห์เป็นหลัก มาเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาสังคมเลยทีเดียว....

 

ต่อไปเราน่าจะได้เห็นคนพิการที่เคยเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน รวมทั้งคนพิการใหม่ๆ ออกมาใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วๆ ไป อยู่ร่วมในสังคมแบบเสมอภาคมากขึ้น จากโครงการนี้ครับ

 
 
 
 
 

ชมรมรักษ์ภาษาไทย



1 ความคิดเห็น:

  1. แนวคิดที่ว่าจะให้มีศูนย์ILC ทั่วประเทศ เป็นความคิดที่ดีมากๆ
    แต่กินข้าวกลางดงเสือนี่ไม่เสียวข้างหลังหรื่อไง

    ตอบลบ